วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

จังหวัดสุรินทร์


คำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม


ประวัติ
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่งแต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไรอาศัยเพียงข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีตลอดจนคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อๆ กันมาโดยเชื่อกันว่าเมืองสุรินทร์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2000 ปี ล่วงมาแล้วในสมัยที่พวกขอมมีอำนาจอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงเมืองสุรินทร์ได้ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าดงอยู่นานจนกระทั่ง ถึง พ.ศ. 2306 จึงปรากฏหลักฐานว่า หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองทีได้ขอให้เจ้าเมืองกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองทีมาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้นมีน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดีได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปรานจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น “เมืองประทายสมันต์” และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดี เป็นพระสุรินทร์ภักดี ศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครองต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2329) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อ” เมืองประทายสมันต์”เป็น “เมืองสุรินทร์” ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองเมืองสุรินทร์ มีเจ้าเมืองปกครองสืบเชื้อสายกันมารวม 11 คน จนถึง พ.ศ. 2451 ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นแบบเทศาภิบาลส่วนกลาง จึงได้แต่งตั้งพระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมนานนท์) มาดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแรกของเมืองสุรินทร์

ที่ตั้ง
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ทางใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเส้นแวงที่ 103 องศา และ 105 องศาตะวันออก และระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 องศา และ 16 องศาเหนือ ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 450 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดศรีษะเกษ
ทิศใต้ ติดต่อกับ ประเทศกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดบุรีรัมย์

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดสุรินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,077,535 ไร่คิดเป็นร้อยละ 4.8 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะดังนี้คือบริเวณซึ่งติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชามีป่าทึบและภูเขาสลับซับซ้อน ถัดจากบริเวณภูเขา จะเป็นที่ราบสูงลุ่มๆ ดอนๆ ลักษณะลูกคลื่นลอนลาดบริเวณตอนกลาง ของจังหวัด จะเป็นที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีที่ราบสูงอยู่บางตอน ด้านเหนือของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่าน
จังหวัดสุรินทร์มีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 8 สายดังนี้คือแม่นำมูล ลำน้ำชี ห้วยเสนง ลำห้วยพลับพลา ลำห้วยระวี ลำห้วยทับทัน ลำห้วยระหารและลำห้วยแก้ว เป็นลำน้ำที่ทำประโยชน์ให้แก่จังหวัดสุรินทร์นอกจาก 8 แห่งนี้แล้ว ยังมีลำน้ำและหนองนำอีกมากมายกระจัดกระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ แต่แหล่งน้ำต่างๆดังกล่าวไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่เกษตรกรได้มากนักในฤดูแล้งส่วนใหญ่น้ำจะแห้ง เว้นแต่ลำน้ำมูลซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าจำนวน 1,382,625 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.23 ของพื้นที่จังหวัดไม่มีอุทยานแห่งชาติมีวนอุทยานจำนวน 2 แห่ง คือวนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ และวนอุทยานป่าสนหนองคู อำเภอสังขะ เนื้อที่ 625 ไร่และมีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 1 แห่งคือเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยสำราญ - ห้วยทับทัน อยู่ในพื้นที่กิ่งอำเภอพนมดงรัก, อำเภอกาบเชิง, อำเภอสังขะ และอำเภอบัวเชด เนื้อที่ 313,750 ไร่

ดิน
เนื่องจากโครงสร้างหลักของอีสานประกอบด้วยหินทรายที่มีชั้นเกลือของตะกอนทะเลน้ำเค็ม แทรกอยู่ ดินของภาคอีสานส่วนใหญ่จึงเป็นดินทรายและดินร่วนปนทราย ที่มักจะมีเกลือปนอยู่ด้วยทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูก แม้ว่าอีสานมีความสมบูรณ์ที่ได้จากแม่น้ำสำคัญ2สาย คือแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งมีแม่น้ำสาขาอีกมากมาย รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับปริมาณพื้นที่ทั้งหมดของภูมิภาคซึ่งกันดารกว่า จึงเป็นที่มาของภาพพจน์ว่า "อีสานแห้งแล้ง"

สภาพภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดสุรินทร์ มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน สภาพอากาศในแต่ละฤดู มีดังต่อไปนี้
1.ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่ก่อให้เกิดฝนตกทั่วประเทศฝนตกมากที่สุดในเดือนกรกฏาคมและกันยายน ซึ่งมีวันฝนตก 127 วัน
2.ฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
3. ฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนโดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนพัดมาจากทะเลจีนใต้

ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำ
ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของจังหวัดสุรินทร์มีไม้ที่มีค่าอยู่หลายชนิด เช่น ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ตะเคียน ไม้ยาง และไม้พลวง เป็นต้น
แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ แม่น้ำมูล ลำห้วยชี ลำห้วยพลับพลา ห้วยเสนง ลำห้วยระวี ลำห้วยทับทัน ลำห้วยระหาร และลำห้วยแก้ว
แหล่งน้ำที่มีอยู่โดยทั่วไปมักจะแห้งขอดในฤดูร้อน มีเพียงลำน้ำมูลเท่านั้นที่มีน้ำขังตลอดปี สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามยังมีโครงการชลประทานและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการเกษตร และการอุปโภคบริโภคได้
ถึงแม้สภาพอากาศ น้ำ และคุณภาพของดินจะไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกนัก ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ยังคงประกอบ
อาชีพทางด้านการเกษตรกรรมมีการทำนาข้าวเจ้า ทำสวน และเพาะปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ เช่น ปอแก้ว ข้าวเจ้า ไร่ อ้อยน้ำตาล และ มันสำปะหลัง อาชีพที่มีความสำคัญรองลงมาคือ การเลี้ยงไหมและการบริการ

สภาพทางเศรษฐกิจ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่าในปี 2542 จังหวัดสุรินทร์มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด(GPP.)ตามราคาประจำปี 26.235 พันล้านบาท มูลค่าผลิตภัณฑ์ เฉลี่ยต่อคน 19,725 บาท สาขาที่ทำรายได้ให้แก่จังหวัดมากที่สุด คือ สาขาเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 28.08 รองลงมา คือสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาการบริการ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.43 และ 18.94 ตามลำดับ

การดำเนินชีวิต วัฒนธรรม
จังหวัดสุรินทร์ แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาค ออกเป็น 13 อำเภอ 4 กิ่งอำเภอ 158 ตำบล 2,057 หมู่บ้าน โดยแยกเป็นอำเภอต่างๆ ดังนี้
อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอกาบเชิง อำเภอจอมพระ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอบัวเชด อำเภอปราสาท อำเภอรัตนบุรี อำเภอลำดวน
อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสนม อำเภอสังขะ อำเภอสำโรงทาบ กิ่งอำเภอศรีณรงค์ กิ่งอำเภอพนมดงรัก กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์
การปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล 14 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 158 แห่ง
จากข้อมูลสมุดรายงานสถิติจังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2545 จังหวัดสุรินทร์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,399,377 คน เป็นชาย 700,417 คน
หรือคิดเป็นร้อยละ 50.05 ของประชากรทั้งหมด เป็นหญิง 698,980 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.95 ของประชากรทั้งหมด

การคมนาคมและขนส่ง
จังหวัดสุรินทร์ มีทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัด ใช้เดินทางติดต่อภายในจังหวัดและติดต่อระหว่างจังหวัดได้โดยสะดวก
มีเส้นทางติดต่อระหว่างตำบลและหมู่บ้านในชนบทซึ่งสามารถใช้ในการเดินทางแลขนส่งผลิตผลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีทางรถไฟผ่านจังหวัดสุรินทร์ที่อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอศีขรภูมิ และอำเภอสำโรงทาบ รวมระยะทาง 65 กิโลเมตร

การสาธารณูปโภค

ในปี 2545 มีการประปา 9 แห่ง มีกำลังผลิต รวมทั้งสิ้น 13,096,200 ลูกบาศก์เมตร แต่สามารถผลิตน้ำได้เพียง8,226,473 ลูกบาศก์เมตรมีการใช้กระแสไฟฟ้าภายในจังหวัดสุรินทร์ 338.96 ล้านยูนิต

การศึกษา

ด้านการศึกษา ปีการศึกษา 2545 จังหวัดสุรินทร์ มีสถานศึกษา 883 แห่ง ครู/อาจารย์ 13,028 คน นักเรียน/นักศึกษา 287,277 คน

ด้านสาธารณสุข
ปีงบประมาณ 2545 มีโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน รวม 18 แห่ง คลีนิค ทุกประเภท 104 แห่ง สถานีอนามัย 209 แห่งแพทย์ 115 คน ทันตแพทย์ 42 คน พยาบาล 1,060 คน

การเกษตรกรรมและชลประทาน
สภาพพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม สลับกับพื้นที่ดอนตามแนวชายเขาเป็นบางส่วน พื้นที่ราบลุ่มนั้นเหมาะสำหรับปลูกข้าว
ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับหนึ่งของจังหวัด ส่วนพื้นที่ดอนตามแนวชายเขานั้นเหมาะสำหรับเพาะปลูกปอแก้วและมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักรองจากข้าว พื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 3,443,514.80 ไร่ แบ่งเป็น
-พื้นที่ทำนา 3,126,747 ไร่ (90.80 %)
-พื้นที่ทำไร่ 175,224.75 ไร่ (5.09%)
-พื้นที่ปลูกไม้ผล 99,616.25 ไร่ (2.89%)
-พื้นที่ปลูกพืชผัก 23,432.75 ไร่ (0.68%)
-ไม้ดอก 202.05 ไร่ (0.01%)
-ไม้ยืนต้น 18,292 ไร่ (0.53 %)
-ปศุสัตว์ 153,808 ไร่ (4.24%)
-พื้นที่ป่าไม้ 1,417,176 ไร่ (25.81%)
-พื้นที่ไม่ได้จำแนก 629,934.20 ไร่ (11.47%)

จำนวนอ่างเก็บน้ำชลประทาน
ชลประทานขนาดกลาง 17 แห่ง ความจุ 146.77 ล้านลูกบาศก์เมตรชลประทานขนาดเล็ก 281 แห่ง พื้นที่ใช้ประโยชน์ 175,350 ไร่

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
ในปี 2545 จังหวัดสุรินทร์ มีครัวเรือนที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด 16,650 ครัวเรือน จำนวน 21,403 บ่อ เนื้อที่ 10,775 ไร่